วันพุธที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2554

การเล่นเพื่อการเรียนรู้

เล่นเพื่อเรียนรู้

เล่นอย่างไรในวัยซน
การเล่นของเด็กมีทั้งเล่นคนเดียวและเล่นกับเพื่อนๆซึ่งเด็กทุกคนควรได้มีการเล่นทั้งสองแบบ
เล่นคนเดียว  ทำให้เด็กมีสมาธิจดจ่อกับสิ่งที่ตัวเองสนใจเต็มที่  หาของเล่นหรือเกมที่ทำให้ลูกเกิดการเรียนรู้ เช่น เกมการแข่งขันกีฬาที่ย่อขนาดลงมาเล่นบนโต๊ะ  เครื่องมืองานช่างหุ่นจำลองที่ถอดประกอบเปลี่ยนท่าทางได้  ตุ๊กตาเปลี่ยนเสื้อได้  อุปกรณ์ทดลองทางวิทยาศาสตร์  อุปกรณ์การทำงานศิลปะทั้งวาด  ปั้น  ประดิดประดอย ฯลฯ  ซึ่งคงต้องสังเกตความสนใจของลูกด้วย เพราะถ้าลูกไม่ชอบไม่สนใจแล้วลูกอาจจะไม่แตะของเล่นที่ซื้อมาเลยก็ได้
         เด็กบางคนเล่นคนเดียวไม่เป็นเพราะมีพ่อแม่หรือพี่เลี้ยงคอยเล่นด้วยตลอด  ซึ่งก็น่าห่วงว่าเมื่อโตขึ้นลูกจะไม่สามารถมีความสุขได้ด้วยตัวเอง  คอยพึ่งพิงคนอื่นหากอยู่คนเดียวก็จะรู้สึกเหงาตลอดเวลา  การฝึกให้ลูกเล่นคนเดียวบ้างจะทำให้ลูกเกิดความมั่นใจในตัวเอง
เล่นเป็นกลุ่ม  เป็นทีม  ทำให้เด็กเล่นได้สนุกยิ่งขึ้น และเรียนรู้ทักษะสังคมไปในตัวรู้จักวิธีสร้างสายสัมพันธ์กับคนอื่น  รู้จักทำตามกฎกติกา  รู้จักวางแผน  แก้ปัญหาเฉพาะหน้า  รู้จักปรับตัว  ยอมรับความคิดของผู้อื่น  รู้จักต่อรอง  รู้จักเสียสละ  รู้แพ้รู้ชนะ ฯลฯ
         แต่ก็ไม่จำเป็นที่เด็กๆจะเล่นกับกลุ่มเพื่อนเสมอไป  บางครั้งอาจเล่นกับเพื่อนสนิทสักคนสองคนก็ได้  ซึ่งเด็กจะได้เรียนรู้การรักษาสัมพันธภาพด้วย
         คุณอาจจะคิดว่าลูกได้เล่นกับเพื่อนๆที่โรงเรียนเพียงพอแล้วแต่ขอบอกว่าสมัยนี้เด็กๆแทบไม่มีเวลาเล่นที่โรงเรียนมากนักเพราะโรงเรียนส่วนใหญ่มุ่งเน้นให้เด็กเรียนรู้วิชาการ หรือมีกิจกรรมทางวิชาการมากขึ้นและพื้นที่โรงเรียนในปัจจุบันก็น้อยลงเพราะใช้สร้างอาคารเรียนรองรับกับจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้น หรือมีสนามก็ห้ามใช้ (เพราะกลัวหญ้าตายไม่สวยงาม) หรือสนามเทปูนเสียหมด  ไม่มีต้นไม้ให้ร่มเงา เป็นต้น  (เพราะฉะนั้นถ้าโรงเรียนไหนไม่มีพื้นที่ให้เด็กประถมได้เล่นได้กระโดดโลดเต้นตามธรรมชาติของวัยแล้วละก็  โรงเรียนนั้นไม่เหมาะกับลูกของคุณแน่ๆ)
         และเพื่อให้แน่ใจว่าลูกได้เล่นอย่างเพียงพอ  เมื่ออยู่บ้านในวันหยุดก็ควรจัดเวลาให้ลูกได้เล่นกับเพื่อนข้างบ้าน หรือพาไปเล่นในหมู่ญาติด้วย
         จะเห็นว่า ในเรื่องการเล่นที่ว่ามาทั้งหมดนี้จะไม่พูดถึงการเล่นวีดีโอเกมหรือเกมคอมพิวเตอร์เลย เพราะอยากรณรงค์คุณพ่อคุณแม่ให้ดึงลูกออกห่างจากจอ มาเล่นอะไรที่เป็นการเล่นเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและการเรียนรู้อย่างรอบด้านจริงๆมากกว่าค่ะ
กฎของการเล่น
- ความปลอดภัย  เด็กๆกำลังอยู่ในวัยซนและรู้เท่าไม่ถึงการณ์  จึงต้องดูแลความปลอดภัยเป็นอันดับแรก  ทั้งสถานที่เล่น  อุปกรณ์การเล่น  และควรมีผู้ใหญ่ดูแลอยู่ห่างๆ
- เล่นเป็นเวลา  จัดเวลาเล่นให้เป็นเวล่ำเวลา  โดยลูกจะต้องมีเวลาสำหรับทำสิ่งอื่นๆด้วย ตั้งเป็นกฎเกณฑ์ เช่น ทำการบ้านให้เสร็จก่อน หรือเล่นถึงกี่โมงแล้วมาช่วยแม่ทำงานบ้าน  เป็นต้น
- เล่นแล้วเก็บ  ฝึกลูกให้รับผิดชอบเก็บข้าวของที่เล่นให้เป็นระเบียบ และรักษาของให้เล่นได้นาน
- ไม่ซื้อของเล่นพร่ำเพรื่อ  ทำให้ลูกไม่รู้จักคุณค่า  ถ้าลูกอยากได้ต้องมีวาระ  เช่น เป็นรางวัลสำหรับความพยายามต่างๆ หรือออกเงินกันคนละครึ่งกับพ่อแม่ เป็นต้น
เรียนรู้อะไรจากการเล่น
         การเล่นให้การเรียนรู้แก่เด็กๆมากมาย อาทิ การเล่นมอญซ่อนผ้า  หากมองเผินๆก็เน้นความสนุกสนาน  การช่างสังเกตสายตาจากเพื่อนๆ เทคนิคการล่อหลอกและวิ่งเร็วแล้ว  แต่ในเชิงปรัชญามีผู้ศึกษาว่า ปกติเด็กๆเวลามองของถ้าเห็นอยู่ข้างหน้าเท่านั้นถึงจะรู้ว่ามีของอยู่  ถ้าของนั้นเลยสายตาไปก็จะคิดว่าสิ่งนั้นไม่มีอยู่  มอญซ่อนผ้าจึงสอนเด็กว่า แม้เรามองไม่เห็น แต่มันมีอยู่ข้างหลังนะ  ทำให้เด็กได้รู้จักคำสอนว่า คิดหน้าคิดหลังได้ชัดเจน
         เด็กยังรู้จักความหมายเชิงสัญลักษณ์จากการเล่น เช่น  ก้อนหินแทนเงิน  ใบไม้หั่นฝอยเป็นเส้นก๋วยเตี๋ยว  เศากะลามาเป็นถ้วยชาม  เป็นต้น  ส่งผลให้เด็กเกิดการคิดอย่างเป็นระบบ  มีการเปรียบเทียบ  ประเมินค่า  นอกจากนี้การเล่นเลียนแบบครู  หมอ  แม่ค้า  ตำรวจ  ฯลฯ  ยังสะท้อนถึงความเข้าใจการสมมติ  การช่างสังเกตพฤติกรรมและบทบาทหน้าที่ของบุคคลในสังคมได้  และการเล่นจะเริ่มสื่อความหมายใกล้เคียงความจริงมากขึ้นเรื่อยๆ  ไปสู่การรู้จักตัดสินใจ  แก้ปัญหาและมีความรับผิดชอบต่อบทบาทหน้าที่ตนเองในที่สุด
ของเล่นเสริมทักษะ
- การ์ดเกมสะกดคำ  การเล่น  crossword  และการเล่นที่เกี่ยวกับการพูด  อ่าน  เขียน  เล่านิทาน  มีภาพประกอบ  ช่วยเสริมทักษะทางภาษา
- ของเล่นรูปทรงเรขาคณิต  ลูกปัดนับจำนวน  ช่วยเสริมทักษะการคำนวน
- การร้อยลูกปัด  การต่อแท่งไม้  การต่อภาพจิ๊กซอว์  การหัดผูกเชือก ฯลฯ  ช่วยฝึกทักษะการใช้ประสาทสัมผัส  ด้วยของเล่นที่เด็กสามารถใช้มือหยิบจับสัมผัสประสานงานกับตา
- การประดิษฐ์ของเล่นจากเศษวัสดุ  ช่วยฝึกการใช้ความคิดสร้างสรรค์
- ฝึกประสบการณ์ทางวิทยาศาสตร์  กับเครื่องยนต์กลไกของรถบังคับ  กังหัน  เครื่องร่อน
- ฝึกการแบ่งหน้าที่  และรู้จักการแก้ปัญหา  กับเกมเศรษฐี

หมายเหตุ  :  ไม่จำเป็นต้องซื้อของเล่นราคาแพง  คุณพ่อคุณแม่อาจทำขึ้นเอง  หรือชวนลูกทำ  หรือลูกคิดประดิษฐ์เอง  จะเป็นของเล่นมีคุณค่า  ได้ทั้งความสัมพันธ์และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ค่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น