วันอังคารที่ 18 มกราคม พ.ศ. 2554

การเลี้ยงลูกให้ปลอดภัย

ไม่ประมาท...พลั้งเผลอ ลดภัยเสี่ยงเด็กเล็กก่อนสาย!!

ไม่ประมาท...พลั้งเผลอ ลดภัยเสี่ยงเด็กเล็กก่อนสาย!!


ไม่ประมาท...พลั้งเผลอ ลดภัยเสี่ยงเด็กเล็กก่อนสาย!! (เดลินิวส์)
          ลูกคือ “โซ่ทองคล้องใจ” ของผู้เป็นพ่อแม่ เป็นสายใยรักที่เกิดขึ้นมา เพื่อเติมเต็มคำว่า “ครอบครัว” ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น...นับตั้งแต่วันที่ลูกน้อยลืมตาดูโลก ...ภารกิจหลักคงตกอยู่กับผู้ที่เป็นพ่อและแม่ บางครอบครัวโชคดีมีปู่ ย่า ตา ยาย ช่วยเลี้ยง บางครอบครัวต้องเลี้ยงดูกันเอง และที่ร้ายไปกว่านั้น พ่อ แม่ บางคนต้องรับหน้าที่เป็นทั้งพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน
          “ลูกใคร ใครก็รัก” แต่บางครั้งบางคราว ผสมกับความเป็นมือใหม่ของบางครอบครัว ทำให้เกิดอันตรายขึ้นกับลูกรักได้ เด็กหลายคนโชคยังดีที่ช่วยเหลือไว้ได้ทัน ในขณะที่เด็กอีกจำนวนไม่น้อย ต้องจบชีวิตลงเพราะความพลั้งเผลอ หรือความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในเวลาเพียงไม่กี่เสี้ยววินาที!!

           ความปลอดภัย เป็นเรื่องที่ทุกบ้านที่มีเด็กอ่อน พึงให้ความสำคัญ ลักขณา สุมงคล หัวหน้าแผนกเนอร์สเซอรี่ โรงพยาบาล บี เอ็น เอช ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า อันตรายที่เกิดขึ้นกับทารก สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเวลา และบางครั้ง เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดมาก่อนว่าจะเกิดขึ้น พ่อ แม่ ผู้ที่ทำหน้าที่เลี้ยงทารก จึงต้องมีความรู้ในด้านต่างๆ เกี่ยวกับอันตรายใกล้ตัวที่คาดไม่ถึง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดสำหรับลูกน้อย

          ทารกในช่วงแรกเกิด สิ่งที่ควรระวัง คือ เรื่องของทางเดินหายใจ
เพราะการเตรียมที่นอน ที่ไม่ถูกต้อง มีความนิ่มมากจนเกินไป รวมทั้งการจัดท่านอนให้ทารก ที่ไม่ถูกต้อง อาจทำให้หน้าของทารกกดลงกับบริเวณที่นอนที่เป็นฟูกนิ่มๆ ได้ ซึ่งจะทำให้เด็กหายใจไม่ออก ในต่างประเทศจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาก
          ท่านอนของเด็กควรจะเป็นท่านอนหงาย หรือท่านอนตะแคง ในส่วนที่คุณพ่อ คุณแม่ ท่านใดต้องการให้ลูกหัวสวย สามารถจัดนอนคว่ำได้แต่จะต้องเป็นที่นอนที่แข็ง ลักษณะคล้ายฟูกของคนไทยในสมัยก่อน โดยให้น้องนอนคว่ำ แต่หันหน้าไปทางใดทางหนึ่ง และหมั่นเดินมาดูลูกบ่อยๆ อย่างน้อยชั่วโมงละครั้ง หรือทางที่ดีที่สุด ควรนอนด้วยกันกับลูก ควรที่จะให้ลูกอยู่ในสายตาตลอดเวลา เพราะต้องคำนึงเสมอว่า เด็กยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย

          ส่วนที่นอนของทารกไม่ควรเป็นเบาะหรือฟูกที่นุ่มจนเกินไป รอบข้างควรมีหมอนข้างหรือหมอนกั้นไว้ เพราะเด็กจะนอนดิ้นและขยับตัวบ่อย ถ้าต้องการให้ลูกนอนเตียงที่ด้านข้างทำเป็นลูกกรง ควรที่จะมีอุปกรณ์ป้องกันด้วยเช่นกัน อย่างเบาะ หรืออะไรที่นิ่มๆ มากั้นตลอดทั้ง 4 ด้าน เพราะเราไม่รู้ว่าเด็กจะกลิ้งไปทางใด ไม่ใช่มาดูอีกที ลูกหัวลอดจากลูกกรงมาอยู่ข้างนอกเสียแล้ว เคยมีกรณีที่เด็กนอนเตียงในลักษณะเช่นนี้ แต่ไม่มีอะไรกั้น คิดว่าลูกกรงที่กั้นก็เพียงพอแล้ว ปรากฏว่า เมื่อกลับมาดูลูกแทบเป็นลม เพราะหัวเด็กไปเกี่ยวกับลูกกรงเตียง แต่ตัวห้อยลงไปอยู่ด้านล่าง ทำให้เด็กขาดอากาศหายใจไปชั่วขณะหนึ่ง พ่อ แม่ ตกใจจึงรีบพามาโรงพยาบาล ตรงนี้จึงต้องระวังด้วย

          “แต่ถ้าให้เด็กนอนพื้น ควรจะเป็นเบาะและมีหมอนกั้นอาณาเขตเอาไว้รอบๆ ตัวน้อง ไม่ควรให้ลูกนอนในที่สูงเกินคืบหนึ่ง โดยที่ไม่มีอะไรปิดกั้นรอบข้าง ยิ่งถ้าเด็กเริ่มพลิกตัว เริ่มเคลื่อนไหวได้แล้ว ควรให้นอนพื้นจะเป็นการดีที่สุด และเป็นการป้องกันถ้าคุณแม่เผลอหลับไปกับลูก เพราะไม่รู้ว่าน้องจะทำอะไร เมื่อเขาตื่นขึ้นมาก่อน เมื่อลูกนอนพื้นสิ่งที่สำคัญ คือ เรื่องความสะอาด ต้องหมั่นทำความสะอาดบริเวณที่ลูกนอน เพราะอาจมีมดหรือแมลงมากัดลูกได้”

         
 ในส่วนของอาหาร สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความสะอาด การเตรียมอาหารให้ลูกทุกครั้งต้องล้างมือก่อน เพราะการล้างมือเป็นการป้องกันการติดเชื้อได้ดีวิธีหนึ่ง และควรจะแยกภาชนะไว้สำหรับลูกโดยเฉพาะ รวมไปถึงข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันของเด็กด้วย เพื่อไม่ให้เกิดการระคายเคืองและเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้ได้ เนื่องจากเด็ก ยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ
          การป้อนอาหารนั้น ควรให้เด็กอยู่ในลักษณะที่หัวสูงกว่าตัวเสมอ ในท่ากึ่งนั่ง
เพราะการกลืนกินอาหารของเด็กยังทำได้ไม่ดี มีโอกาสที่จะสำลักได้ง่ายมาก การวางช้อนให้น้องอ้าปากแตะที่ปลายลิ้น จากนั้นค่อยๆ กระดกช้อนขึ้น ส่วนปริมาณในการป้อนแต่ละครั้ง จะต้องป้อนครั้งละน้อยๆ เพียงปลายช้อน เพราะเด็กเล็กการเริ่มทานอาหารใหม่ๆ สำหรับเขา แค่ช้อนโต๊ะเดียวก็เพียงพอแล้วในแต่ละมื้อ
          นอกจากนี้ในส่วนของผลไม้ที่มีเมล็ด หากอยากให้ลูกที่พอรับประทานได้ลองลิ้มรส ก็ควรแกะและป้อนคำเล็กๆ ไม่ควรให้ลูกรับประทานเพียงลำพัง เพราะอาจทำให้เมล็ดหลุดลื่นลงคอ หรือไปติดที่หลอดลมได้

          
“เสื้อผ้าเด็กในส่วนของตะเข็บก็มีความสำคัญเช่นกัน เด็กบางคนอาจจะโดนด้ายเย็บตามตะเข็บบาดเอาได้ หรือทำให้ผิวหนังระคายเคือง แม่บางคนไม่รู้จะทำอย่างไร ลูกร้องไห้ไม่หยุด ค้นดูตามเนื้อตัวลูก ถึงได้รู้ว่าด้ายที่เย็บบาดลูก ฉะนั้นเวลาจะซื้อเสื้อผ้า ให้ดูตะเข็บด้านในด้วยว่า เย็บเก็บเรียบร้อยดีหรือไม่”
           
การอาบน้ำ เป็นอีกขั้นตอนหนึ่งที่เด็กอาจจะได้รับอันตรายได้ หลักการที่ทำให้เด็กปลอดภัย คือ จับเด็กให้มั่น เพราะคุณแม่มือใหม่จะรู้สึกตื่นเต้น ไม่กล้าจับลูกแรง กลัวลูกเจ็บ เพราะน้องตัวจะนิ่มไปหมด ยิ่งลูกโดนน้ำแล้วร้องยิ่งกังวล มือสั่นไปกันใหญ่ ทั้งที่จริงๆ แล้วเด็กเมื่อโดนน้ำ อาบน้ำแรกๆ จะร้องทุกราย

         
ฉะนั้น หลักการที่ถูกต้อง คือจับที่บริเวณไหล่ลูก ในลักษณะโอบไหล่ แล้วน้ำหนักของลูกถ่ายมาที่บริเวณข้อมือของแม่ หัวเด็กจะพิงมาที่ข้อศอกของแม่พอดี จับไหล่ลูกให้แน่น เพราะถ้าหลุดเด็กจะหลุดมือทันที
           สำหรับสิ่งแวดล้อม ถ้าเป็นไปได้ควรจัดพื้นที่ไว้สำหรับน้อง และที่มองข้ามไม่ได้เลย คือ เรื่องของสารเคมี บางครั้งแม่อาจหยิบผิดได้ เพราะขวดคล้ายกัน สีเหมือนกันหรือใกล้เคียงกัน อย่างหยิบน้ำยาขัดพื้น คิดว่าเป็นน้ำยาซักผ้าน้อง ตรงนี้อาจทำให้เด็กได้รับอันตรายจากเคมีนั้นได้ จึงควรแยกที่เก็บให้ห่างจากกันและสังเกตได้อย่างชัดเจน

          รวมทั้งควรเก็บสารเคมีต่างๆ ออกจากพื้นที่ของลูก เพื่อกันตัวเองหยิบใช้ผิด อีกทั้งยังป้องกันไม่ให้เด็กคลานไปหยิบเล่น หรือเปิดออกมาดื่มกินได้ จึงควรเก็บไว้ในที่มิดชิดและเด็กเอื้อมไม่ถึงเปิดไม่ได้

          รวมไปถึงยาและเวชภัณฑ์ ควรจัดเก็บให้ห่างจากลูกให้มากที่สุด เพราะเด็กอาจจะหยิบมาใส่
ปากเล่น และอาจจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้

          นอกจากนั้น สิ่งแวดล้อมที่ลูกอยู่ ถ้ามีปลั๊กไฟ ให้หาอะไรมาปิดรูปลั๊กไฟ เพื่อกันไม่ให้ลูกเอามือไปแหย่เล่น ถ้าเขาอยู่ในวัยที่เริ่มคลานแล้ว ยิ่งต้องระวังให้มากขึ้น

         
ตลอดจนภาชนะและสิ่งของที่มีคม อย่างกรรไกร เข็ม ด้าย มีด หรือในส่วนของขอบโต๊ะ ขอบเตียง ซึ่งบางครั้งเราคิดไม่ถึง จึงจำเป็นต้องมีภาชนะห่อหุ้ม เมื่อลูกคลานไปโดนจะได้ไม่เกิดอันตรายได้

          วัยที่อันตราย คือ วัยที่เด็กเริ่มเรียนรู้ เริ่มเคลื่อนไหว หัดคลาน เริ่มเคลื่อนที่จากที่นอนอยู่เฉย ๆ คุณพ่อ คุณแม่ต้องไม่ให้ลูกห่างสายตาเป็นอันขาด ควรอยู่กับเด็กตลอดเวลา เพราะพฤติกรรมอยากรู้อยากเห็นและในช่วงขณะที่ พ่อแม่เผลอ จะเป็นช่วงที่อันตรายกับลูกมาก ซึ่งในแต่ละครอบครัวจะมากน้อยแตกต่างกัน

         
ฉะนั้นการป้องกัน จึงเป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่จะไม่ให้เหตุเกิด นั่นคือ อย่าปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียว หรือบางช่วงเวลาที่ปล่อยให้เด็กอยู่คนเดียว สิ่งแวดล้อมตรงนั้นจะต้องปลอดภัยสำหรับเขา ไม่ว่าจะเป็นของที่เขาหยิบเข้าปาก หรือจะเป็นเรื่องไฟ รวมทั้งการตกจากที่สูง สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น เพราะเด็กเขาไม่รู้เรื่อง ไม่รู้ว่าสิ่งที่เขาทำจะเกิดอะไรตามมา” ลักขณา แฝงข้อคิดทิ้งท้าย
           มากกว่าความรัก คือ การเอาใจใส่ อย่าให้แก้วตาดวงใจต้องพบหรือเผชิญกับประสบการณ์อันเลวร้าย ทั้งๆ ที่คุณสามารถป้องกันให้กับเขาได้!!.



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
โดย  จุฑานันทน์ บุญทราหาญ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น